จะ"เค็ม'ไปถึงไหน
คนไทยป่วยโรคไตปีละ 1 หมื่นคน แนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะพฤติกรรมการกินเค็มมากขึ้น และดื่มน้ำไม่เพียงพอกับที่ร่างกายต้องการคนไทยป่วยโรคไตปีละ 1 หมื่นคน แนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะพฤติกรรมการกินเค็มมากขึ้น และดื่มน้ำไม่เพียงพอกับที่ร่างกายต้องการ
พญ.จรรยาพร ตั้งประเสริฐ อายุรแพทย์โรคไต โรงพยาบาลหัวเฉียว ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคไตว่า โรคไตคือโรคที่เกิดจากการทำงานของไตลดลง ทำให้การขจัดของเสียและความสมดุลของเกลือแร่ ฮอร์โมนในร่างกายบกพร่องไป ซึ่งผู้ป่วยบางรายก็จะมีอาการบ่งชี้ แต่บางรายกว่าจะแสดงอาการของโรคออกมาก็เข้าสู่ระยะรุนแรง
ปัจจุบันคนไทยกำลังมีผู้ป่วยโรคไตเป็นจำนวนมาก และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โรคไตเป็นโรคเรื้อรังที่ต้องใช้เวลาในการดูแลรักษาที่ยาวนาน ผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาต่อเนื่องตลอดทั้งชีวิต อีกทั้งมีค่าใช้จ่ายที่สูง โดยเฉพาะผู้ป่วยในระยะไตเสื่อมเรื้อรังระยะสุดท้าย จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยวิธีการกำจัดของเสียออกจากร่างกาย คือ การล้างช่องท้องด้วยน้ำยาพิเศษ การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม และวิธีรักษาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนไต ซึ่งล้วนแต่เป็นการรักษาที่มีราคาสูงและอาจมีภาวะแทรกซ้อนตามมา
ปัจจัยเสี่ยงที่เป็นสาเหตุของโรคไตนั้น ประกอบด้วย โรคกรรมพันธุ์ เช่น ถุงน้ำในไต โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน และโรคที่ไม่ใช่ทางกรรมพันธุ์ เช่น นิ่วในไต การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ การใช้ยาบางประเภท เช่น ยาคลายเส้นแก้ปวดต่าง ๆ สำหรับอาการของโรคไตเสื่อมเรื้อรังนั้น ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย เช่น ปัสสาวะมีเลือดปนหรือเป็นฟอง ปัสสาวะสะดุดหรือมีก้อนนิ่วปนออกมา หรือผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการบวมของใบหน้าหรือขาทั้ง 2 ข้าง เมื่อการทำงานของไตเสียไปเกือบหมด หรือเข้าสู่ช่วงระยะรุนแรง อาการต่างๆ จะรุนแรงมากขึ้น เช่น คลื่นไส้อาเจียน ซึมลงจนไม่รู้สึกตัวหรือเสียชีวิต
ด้านนาวาอากาศเอก นพ.อนุตตร จิตตินันทน์ นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หน้าที่สำคัญของไตคือการควบคุมระดับของโซเดียมในร่างกาย โซเดียมจะช่วยรักษาสมดุลของเหลวในร่างกาย ทำให้การทำงานของเส้นประสาทและกล้ามเนื้อเป็นปกติ โดยโซเดียมที่ร่างกายได้รับร้อยละ 90-95 มาจากอาหารที่บริโภค ทั้งพืชและเนื้อสัตว์ รวมทั้งเครื่องปรุงรสเค็ม และอาหารที่มีส่วนประกอบของโซเดียม เช่น ผงชูรส ผงปรุงรส ผงฟู โดยค่ามาตรฐานใน 1 วันร่างกายต้องการไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวันหรือเท่ากับเกลือ 1 ช้อนชา
แต่จากการสำรวจครั้งล่าสุดในปี 2550 พบว่าคนไทยบริโภคเกลือหรือโซเดียมเกินกว่ามาตรฐานที่กำหนดถึง 2 เท่า การกินเค็มจัดเช่นนี้ จะทำให้ไตทำงานหนักในการขับโซเดียมส่วนเกินออกทางปัสสาวะ เพื่อรักษาสมดุลของร่างกาย หากขับออกได้ไม่หมดโซเดียมก็จะคั่งและเป็นตัวดึงน้ำไว้ในร่างกาย ทำให้มีปริมาณของเหลวไหลเวียนในร่างกายมากผิดปกติ เพิ่มแรงดันในหลอดเลือดให้สูงขึ้น ส่งผลให้หัวใจทำงานหนักขึ้น เกิดปัญหาหลอดเลือดทั้งขนาดใหญ่และเล็กที่ไปเลี้ยงทั่วร่างกายปรับตัวหนาและแข็งตามมา
โดยเฉพาะที่ไตจะมีผลกระทบมาก เนื่องจากมีเส้นเลือดฝอยเล็กๆ จำนวนมากทำหน้าที่กรองของเสียออกจากเลือด ไม่สามารถขับของเสียออกได้หมด เกิดการอักเสบของเส้นเลือด เร่งให้เกิดการเสื่อมสภาพเร็วขึ้นกว่าปกติ เป็นเพชฌฆาตเงียบที่คร่าชีวิตคนกินเค็ม เพราะหากยังกินเค็มต่อเนื่อง ภายใน 5-10 ปีหลอดเลือดในไตจะเสื่อมสภาพอย่างถาวรทำให้เป็นไตวายเรื้อรัง รักษาให้กลับมาเหมือนเดิมไม่ได้ ต้องเปลี่ยนไตใหม่ จึงต้องเร่งรณรงค์ให้ประชาชนลดการกินเค็มลงกว่าเดิมครึ่งหนึ่ง เพื่อให้ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน เป็นการถนอมไต ป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับไตในระยะยาว
อย่างไรก็ตาม โรคไตเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ เพียงแค่ตัวเราเองมีสติและหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การใช้ยา การรับประทานอาหาร หรือการใช้ชีวิตประจำวัน ในขณะที่ความเสี่ยงบางอย่างก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ หากแต่สามารถควบคุมได้ เช่น โรคทางกรรมพันธุ์ต่างๆ ที่หากไปพบแพทย์ตามนัด และคอยดูแลตัวเองอยู่เสมอก็สามารถลดโอกาสในการเกิดโรคไตได้เช่นเดียวกัน หากมีความสงสัยควรมาพบแพทย์ตั้งแต่ในระยะเริ่มต้นของโรค