.....เราได้ผ่านพ้นช่วงเวลาการเฉลิมฉลองหลากหลายเทศกาลมาระยะหนึ่งแล้ว และก้าวเข้าสู่ช่วงเวลาของการตั้งหน้าตั้งตาทำงานให้เต็มที่เพื่อชีวิตที่ดีที่รออยู่ข้างหน้า เมื่อทุ่มเททำงานวุ่นวายอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ความเครียดก็มาเยือนเป็นเรื่องปกติ นิตยสาร GoodHealth ตั้งข้อสังเกตว่า ระดับความเครียดกับโภชนาการที่เลว มักเชื่อมโยงกัน และเมื่อคุณมีงานล้นมือ สมองที่จะคิดเรื่องการกินอาหารดีๆ เพื่อสุขภาพคงต้องหลีกทางไปอย่างช่วยไม่ได้ ถ้าไม่อยากตกเป็นเหยื่อของความเครียดจากการทำงาน ให้วางแผนการกินล่วงหน้าคงจะช่วยได้
.....เน้นถั่วเปลือกแข็ง
“หนึ่งในสิ่งสำคัญๆ ที่ต้องตระหนักคือ การกินอาหารผิดประเภทสามารถกระตุ้นความเครียดและความกระวนกระวายได้” นักกำหนดอาหาร คาสซานดรา บาร์นส์ อธิบาย
“เมื่อร่างกายอยู่ในภาวะตึงเครียด มันทำให้รู้สึกอยากอาหารรสหวาน เช่น ช็อกโกแลต หรือมันฝรั่งทอด และเครื่องดื่มกาเฟอีน ให้หันกลับมาหาอาหารว่างที่ไม่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดของคุณพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น ถั่วเปลือกแข็งอย่าง อัลมอนด์ บราซิลนัต เฮเซลนัต แมคคาเดเมียนัต กรีกโยเกิร์ต อะโวคาโด และทูน่า เพราะอาหารว่างเหล่านี้อุดมไปด้วยโปรตีนและไขมันดีที่ช่วยลดอาการอยากของหวานของคุณได้”
ถ้าคุณรู้ว่าวันรุ่งขึ้นจะเป็นวันที่คุณมีธุระยุ่งทั้งวัน ให้เตรียมตัวจัดอาหารว่างล่วงหน้า ด้วยการจัดผักที่หั่นเป็นชิ้นพอดีคำใส่กล่อง ชีส และผลไม้สักหนึ่งชิ้น หรือผลไม้ปั่นสักหนึ่งแก้วติดตัวไปด้วย
.....หลีกเลี่ยงกาเฟอีนปริมาณสูง
ถ้าระหว่างวัน คุณรู้สึกว่าระดับพลังงานลดฮวบลง คุณอาจรู้สึกเหมือนอยากดื่มกาเฟอีนเพื่อเพิ่มพลังงาน อย่างไรก็ตาม เครื่องดื่มกาเฟอีนปริมาณสูงสามารถทำให้ความดันโลหิตของคุณสูงขึ้นระยะสั้นได้ และคุณจะรู้สึกห่อเหี่ยวอีกครั้งเมื่อกาเฟอีนในร่างกายลดลง
ชาเขียวเป็นทางเลือกที่วิเศษมาก “เพราะมันมีกาเฟอีนระดับหนึ่ง ซึ่งทำให้คุณรู้สึกกระปรี้กระเปร่าขึ้นมาเล็กน้อย แต่ชาเขียวยังมีกรดอะมิโน ธีอานีน ซึ่งช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย และอาจช่วยลดอาการกระวนกระวาย รวมทั้งความเครียดทางจิตใจ ชาเขียวยังช่วยเพิ่มระดับฮอร์โมนเซโรโทนิน, โดปามีน และกรดแกมมา-อะมิโนบูไทริก ซึ่งช่วยเรื่องความผ่อนคลายด้วย” นักกำหนดอาหาร โชนา วิลคินสัน อธิบาย
.....ภาวะอักเสบจากความเครียด
เมื่อคุณอยู่ในภาวะเครียดเรื้อรัง ระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลในร่างกายจะสูงขึ้น ก่อให้เกิดภาวะอักเสบ “เมื่อร่างกายของคุณมีคอร์ติซอลในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง มันจะทำให้คุณอยากน้ำตาลมากขึ้น เพื่อเป็นหนทางในการรับพลังงานเพื่อ “ต่อสู้” ซึ่งหมายถึงการประโคมน้ำตาลทั้งกองลงไปในกระแสเลือดของคุณ และบีบให้ตับอ่อนต้องผลิตฮอร์โมนอินซูลินส่วนเกินออกมา” นักโภชนาการ หลิว เฟิงหยวน อธิบาย
“ผลที่ตามมาคือ คอร์ติซอลจะสกัดกั้นการเคลื่อนย้ายไขมัน และภาวะดื้อต่ออินซูลินจะเพิ่มการสะสมไขมัน คุณจะเห็นว่าน้ำหนักตัวเริ่มสูงขึ้น ส่วนใหญ่เป็นการพอกพูนไขมันบริเวณกลางลำตัว”
ภาวะอักเสบระดับต่ำเรื้อรัง ยังเป็นสาเหตุให้ภูมิคุ้มกันลดต่ำลงด้วย แถมยังเร่งกระบวนการชราภาพ อาการซึมเศร้า อาการปวดกล้ามเนื้อและข้อต่อต่างๆ รวมทั้งทำให้ฮอร์โมนที่ควบคุมระบบเผาผลาญทำงานแย่ลง
...ภัยจากภาวะฮอร์โมนเสียสมดุล
สารเคมีที่ทำหน้าที่ “เด็กส่งเอกสาร” เหล่านี้ ในทางปฏิบัติมีหน้าที่ควบคุมกระบวนการทางกายภาพทุกอย่างในร่างกายของคุณ แม้ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงตามปกติตลอดทั้งเดือน แต่การเปลี่ยนที่ผิดปกติอาจเป็นสัญญาณของภาวะเสียสมดุลได้ “อาหารที่ปรุงด้วยน้ำมันคุณภาพเลว และคาร์โบไฮเดรตขัดขาวปริมาณสูง และอาหารว่างที่อุดมไปด้วยน้ำตาล สามารถเปลี่ยนระดับฮอร์โมนของคุณ ที่นำไปสู่ภาวะเป็นหมันและกลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่ (polycystic ovary syndrome) ทั้งยังส่งผลกระทบต่อความจำและความต้องการทางเพศ ถ้าคุณกำลังตั้งครรภ์ อาจนำไปสู่อาการโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้” หลิว เฟิงหยวน สรุป
.....ภาวะน้ำตาลในเลือดเสียสมดุล
ระดับน้ำตาลในเลือดที่เสียสมดุลจากการกินน้ำตาลหรือคาร์โบไฮเดรตขัดขาวมากเกินไป สามารถส่งผลให้การตอบสนองต่ออินซูลินแย่ลง นำไปสู่โรคเบาหวาน ผลการวิจัยครั้งล่าสุดของออสเตรเลียระบุว่า โรคเบาหวานติด 10 อันดับแรกของโรคที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตทั่วประเทศ และหากไม่จัดการให้ทันเวลา อาจนำไปสู่การทำลายเส้นประสาทบริเวณปลายแขนและปลายขา รวมทั้งส่งผลเชิงลบต่อสุขภาพหลอดเลือดและหัวใจ ประมาณร้อยละ 65 ของการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดและหัวใจ เกิดขึ้นกับคนที่เป็นโรคเบาหวานหรือเบาหวานแฝง และนำไปสู่สาเหตุหลักของโรคไตระยะสุดท้ายด้วย
....ภาวะความเป็นกรด
อาหารแปรรูปคุณภาพต่ำ สามารถทำให้ร่างกายมีความเป็นกรดมากขึ้น และอาจนำไปสู่ภาวะอักเสบเรื้อรัง ภาวะความเป็นด่างในร่างกายอาจช่วยปกป้องคุณจากโรคเรื้อรังต่างๆ สามารถส่งผลดีต่อสุขภาพกระดูก และช่วยปรับปรุงผลจากสุขภาพหลอดเลือดและหัวใจไปจนถึงความทรงจำดีขึ้น ระดับความเป็นกรดด่างที่เหมาะสมควรอยู่ที่ระหว่าง 7.3-7.45
ขอขอบคุณ ข้อความดีๆ จาก นสพ ผู้จัดการ