สารคอเลสเตอรอลคืออะไร
คอลเลสเตอรอล คือสารไขมันที่อยู่ในทุกเซลล์ของร่างกาย บางชนิดก็มีความจำเป็นต่อการทำงานของร่างกาย ตับของคนเราสามารถผลิตคอเลสเตอรอลได้ปริมาณ 300 มิลลิกรัม / วัน แต่หากมีปริมาณมากเกินไปก็จะเป็นอันตรายได้ ถ้าระดับคอเลสเตอรอลสูงเกินไป ก็จะเพิ่มอัตราเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจได้
ถ้าเปรียบเทียบเส้นเลือดต่างๆ ของร่างกายเหมือนท่อน้ำประปา ภาวะไขมันในเลือดสูงก็เหมือนก็เหมือนภาวะที่มีตะกอนอยู่ในน้ำมาก ก็มีผลทำให้เกิดการตกตะกอนในท่อน้ำ ก็จะนำมาซึ่งการตีบตันของท่อน้ำ ดังนั้นภาวะไขมันในเลือดสูงจึงจัดเป็นสาเหตุอย่างหนึ่งที่ทำให้เส้นเลือดต่างๆ ในร่างกายตีบตันจากภาวะหลอดเลือดแข็ง
ประเภทไขมันในเลือดมี 3 ชนิด
1. LDL (Low Density Lipoprotein)
LDL Cholesterol ซึ่งรู้จักกันดีในนามของ "ตัวผู้ร้าย" LDL-C ถ้ามีมากจะสะสมในหลอดเลือดแดง ได้มาจากการสังเคราะห์ที่ตับ และจากการบริโภคอาหารที่มีคอเลสเทอรอลสูง ยิ่งระดับ LDL-C สูงเท่าไหร่ อัตราการเป็นโรคหัวใจก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น
2. HDL (High Density Lipoprotein)
HDL Cholesterol ซึ่งรู้จักในนามของ "The best cholesterol" เปรียบเสมือนตำรวจที่คอยตรวจจับผู้ร้าย เพราะเชื่อกันว่ามันเป็นตัวกำจัดคอเลสเทอรอลจากกระแสเลือดไปทำลายที่ตับ และเปลี่ยนเป็นพลังงาน ดังนั้นการมีระดับ HDL-C ในเลือดสูง จะลดอัตราเสี่ยงจากการเกิดโรคหัวใจตีบตัน และหัวใจแข็งตัวได้
3. TG (Triglyceride)
เป็นไขมันอีกชนิดหนึ่งในกระแสเลือด เปรียบเสมือน "ผู้ช่วยตัวร้าย" ได้มาจากไขมันที่มาจากทั้งพืชและสัตว์ เพราะฉะนั้นทุกครั้งที่รับประทานอาหารที่มีไขมัน คือ การรับประทานไตรกลีเซอร์ไรด์นั่นเอง TG มีประโยชน์ในการช่วยดูดซึมวิตามิน A D E K แต่ถ้ามีระดับ TG ในเลือดสูงเกินไป พร้อมกับระดับ LDL-C สูงด้วย จะยิ่งเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจขาดเลือด และจะทำให้ตับอ่อนอักเสบ
สาเหตุของระดับคอเลสเตอรอลสูง
ได้แก่พฤติกรรมการบริโภค ขาดการออกกำลังกาย และกรรมพันธุ์ โรคบางอย่าง เช่น เบาหวาน ถือว่าเป็น "ฆาตรกรเงียบ"เพราะมักไม่แสดงอาการกับผู้ป่วย แต่อาจมีอาการแน่นหน้าอก หรือเป็นลมเสียชีวิตได้ทันที
การปฏิบัติตัวเพื่อควบคุมระดับคอเลสเตอรอล
ระวังเรื่องอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง เช่น ไขมันสัตว์ นม เนย ไข่ เครื่องใน สมองสัตว์ หอยนางรม กุ้ง
ควบคุมน้ำหนัก อย่าให้อ้วนเกินพิกัด
บริหารร่างกายตามความเหมาะสมเป็นประจำ 3 ครั้ง / สัปดาห์ ครั้งละ 20 นาที (วิ่งจ๊อกกิ้ง ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน แอโรบิค)
งดสูบบุหรี่
หลีกเลี่ยงการดื่มเบียร์และแอลกอฮอลล์
ให้ไปตรวจเลือดเป็นประจำ (อย่างน้อยปีละครั้ง) เพื่อจะได้ดูแลรักษาพฤติกรรมการกินให้ดีขึ้น