....ว่ากันว่าไม่มีวันไหนที่หน้าอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัยเชิงดอยสุเทพจะปราศจากดอกไม้ ควันธูป และแสงเทียน
แม้จะเป็นช่วงเช้าวันธรรมดา แต่ลานหน้าอนุสาวรีย์ครูบาก็มีผู้คนคึกคัก ทั้งเด็กเล็ก หนุ่มสาว และผู้เฒ่าผู้แก่ ทุกคนมาสักการะปิดทองรูปเหมือนของท่านด้วยนับถือว่าศักดิ์สิทธิ์นัก กลิ่นควันธูปอวลในอากาศ ดอกดาวเรืองกองสูงถึงครึ่งองค์ รถยนต์ที่แล่นผ่านยังต้องกดแตรแสดงคารวะไม่เว้นคัน
คนทั่วไปรู้จัก “ครูบาศรีวิชัย” (ปี ๒๔๒๑-๒๔๘๑) ในฐานะผู้สร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ ถนนสายนั้นจึงมีชื่อเป็นอนุสรณ์ว่า “ถนนศรีวิชัย”
.....แต่ถ้าสังเกตสักนิดจะเห็นว่า ที่ดูแปลกคือนอกจากดอกไม้มาลัยตามปรกติ ยังมีคนนำไข่มาไหว้ครูบาเป็นจำนวนมาก มีตั้งแต่ใส่ถุงหูหิ้วพลาสติก วางกองในกระบะ จนถึงยกแผงไข่ซ้อนมัดกันมา ตะกร้าบางใบผมประเมินด้วยสายตาแล้วน่าจะบรรจุไข่ร้อยใบขึ้นไป
ฝั่งตรงข้ามอนุสาวรีย์มีร้านขายดอกไม้ธูปเทียนเรียงแถวนับสิบร้าน แม่ค้าสาว ๆ ยืนถือดอกไม้ธูปเทียนส่งเสียงเจื้อยแจ้วเรียกลูกค้า น้องนางหนึ่งตอบคำถามผมว่า เราบนบานครูบาได้ทุกเรื่อง ตั้งแต่ขายบ้านขายที่ดินจนถึงขอลูก ส่วนใหญ่นิยมบนด้วยไข่ต้ม แต่ที่ถวายเป็นไข่ดิบก็มี จะถวายเท่าไรก็ได้ เพียงมักให้ลงท้ายเป็นเศษ ๙ อย่างถ้าเป็นเรื่องใหญ่ ๆ บนที ๙๙๙ ใบก็มี
สาวแม่ค้าหน้าใสร้านข้าง ๆ ไขปริศนาเรื่องไข่ให้ผมฟัง
“สมัยครูบายังมีชีวิต ท่านฉันมังสวิรัติ ชาวบ้านเอาไข่ใส่บาตร ท่านไม่ชอบ พอท่านมรณภาพแล้ว คนก็เลยเอาไข่มาถวาย”
“อ้าว ! ทำไมล่ะ ก็ท่านไม่ชอบนี่” ผมแย้ง
เธอบรรยายต่อ “ท่านไม่ชอบ ขออะไรก็ให้หมด คนเลยเอาไข่มาถวาย”
“พระอาจารย์ท่านเล่าให้ฟัง…” เธอสำทับเหมือนกลัวผมจะไม่เชื่อ
ประวัติการสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพในปี ๒๔๗๗ เริ่มต้นจากการที่หลวงศรีประกาศ (ฉันท์ วิชยาภัย) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเชียงใหม่ (ภายหลังได้เป็นนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ถึงหกสมัย) ดำริว่าต้องการจะปักเสาเดินสายไฟฟ้าขึ้นไปยังวัดพระธาตุ-ดอยสุเทพ ปูชนียสถานสำคัญของเมืองเชียงใหม่ จึงนำความไปเรียนหารือกับครูบาศรีวิชัย พระสงฆ์ผู้เป็นที่เคารพนับถือของผู้คนทั่วทั้งภาคเหนือ
ตามธรรมเนียมล้านนาโบราณ พระสงฆ์ที่จะขนานนามว่า “ครูบา” ได้จะต้องเป็นพระเถระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ มีพรรษากาลสูง คือบวชมานานหลายสิบปี และที่สำคัญคือสมัญญานี้ไม่ใช่คำที่ใช้เรียกตัวเอง หากแต่ต้องเป็นการยกย่องจากสังคมว่าเป็นพระผู้ใหญ่ที่กราบไหว้ได้โดยสนิทใจ
ครูบาศรีวิชัยแนะหลวงศรีประกาศว่าให้สร้างทางรถยนต์ก่อน แล้วไฟฟ้าก็คงตามไปไม่ยาก และท่านรับปากว่าจะช่วยเหลือเรื่องนี้ให้สำเร็จให้จงได้
แต่การตัดถนนขึ้นดอยสุเทพถือเป็นเรื่องใหญ่มาก ก่อนหน้านั้นราวปี ๒๔๖๐ ทางราชการเคยสำรวจแนวถนน แต่ติดขัดที่ใช้งบประมาณสูงถึง ๒ แสนบาทและต้องใช้เวลา ๓ ปี รัฐบาลยังไม่มีเงินเพื่อการนี้ หลวงศรีประกาศบันทึกไว้ว่า หลังจากฟังความเห็นของครูบา ตนเองก็ยังลังเลจึงลองนำความไปกราบทูลเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าหลวงเชียงใหม่ตอบอย่างมั่นใจว่า “ครูบาศรีวิชัยท่านมีอะไรของท่านอย่างหนึ่ง ถ้ารับรองว่าสำเร็จเป็นสำเร็จแน่”
....เมื่อตกลงกันเป็นที่เรียบร้อย หลวงศรีประกาศจึงทำหนังสือแจ้งไปยังเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ซึ่งได้อนุมัติให้นายช่างมาช่วยสำรวจแนวทางตัดถนน ครูบาศรีวิชัยเห็นชอบตามนั้นพร้อมรับหน้าที่เป็นประธานการสร้างถนนสายนี้ให้เสร็จ โดยกำหนดฤกษ์เวลา ๑๐.๐๐ น. วันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๔๗๗
ครูบาโสภา หรือครูบาเถิ้ม วัดแสนฝาง สหายธรรมผู้ใกล้ชิดของครูบาศรีวิชัย ทักท้วงว่า ตามฤกษ์นี้ถนนคงสำเร็จ แต่จะมีปัญหายุ่งยากตามมาอีกมาก น่าจะหาฤกษ์ใหม่ และควรต้องนิมนต์พระเถระชั้นผู้ใหญ่ในเมืองเชียงใหม่มาเจริญชัยมงคลคาถา บางทีจะได้อาศัยบารมีของท่านเหล่านั้นช่วยเป็นกำลังด้วย แต่ครูบาศรีวิชัยไม่เห็นด้วยทั้งสองเรื่อง เพราะถ้าเปลี่ยนกำหนดฤกษ์ ท่านเองติดกิจนิมนต์ต้องไปที่อื่น และเห็นว่าไม่ควรรบกวนพระสังฆาธิการ
....ในที่สุดเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าหลวงเชียงใหม่ ก็ทรงเป็นผู้ลงจอบแรกฟันดินตามฤกษ์เดิม ติดตามด้วยหลวงศรีประกาศ และคนอื่น ๆ ระหว่างนั้นครูบาเถิ้มและพระสงฆ์ในคณะของครูบาศรีวิชัยร่วมกันสวดชัยมงคลคาถา ณ ตำแหน่งที่ตั้งอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัยในปัจจุบัน
ระยะแรกมีแรงงานช่วยทำถนนแค่ไม่กี่สิบคน หลวงศรีประกาศจึงให้พิมพ์ใบปลิวฎีกาบอกบุญที่แต่งเป็นค่าว (บทร้อยกรองของล้านนา) ออกแจกจ่ายทั่วภาคเหนือ บางแหล่งข้อมูลว่าพิมพ์สองครั้ง ครั้งละ ๕,๐๐๐ ใบ บ้างว่าพิมพ์มากถึง ๕ หมื่นใบ
.......แม้จะยังไม่เคยพบต้นฉบับของจริงเลยสักใบ แต่จนถึงยุคทศวรรษ ๒๕๓๐ หรือราว ๖๐ ปีให้หลัง เมื่อ โสภา ชานะมูล เก็บข้อมูลทำวิทยานิพนธ์ปริญญาโท สาขาวิชาประวัติศาสตร์ ว่าด้วยครูบาศรีวิชัย ก็ยังหลงเหลือคนรุ่นผู้ใหญ่ที่ท่องจำคำค่าวในใบปลิวนั้นได้
“หลวงศรีแต่งไจ้ ใบแพร่ดีก๋า ไปทั่วนานา บ้านนอกคอกห้วย…”
ปากต่อปาก ในไม่ช้าผู้คนทั่วทั้งภาคเหนือไปจนถึงสุโขทัย พิษณุโลก ทั้งฆราวาส ภิกษุสงฆ์ และชาวเขาชนกลุ่มน้อย ต่างหลั่งไหลมาร่วมงานนี้กับครูบาศรีวิชัย ประมาณวันละไม่ต่ำกว่า ๕๐๐ คน
หลวงศรีประกาศบันทึกไว้ว่า
“วิธีการรับทำถนนสายนี้โดยให้เข้ากันเป็นพวกหรือหมู่ เรียกตามภาษาเหนือว่าศรัทธา คือทายก-ทายิกาของวัดใดวัดหนึ่งร่วมกันรับตอนหนึ่ง แล้วแต่มีคนมากและน้อย”
พระครูจันทสมานคุณ หรือหลวงปู่หล้า (ปี ๒๔๔๑-๒๕๓๖) อดีตเจ้าอาวาสวัดป่าตึง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ เล่าว่าเคยพาญาติโยมวัดป่าตึงไปช่วยทำถนนตั้งแต่ช่วงแรก ๆ
“การสร้างถนนมีการแบ่งงานกันตามกำลังของผู้ไปร่วม ชาวบ้านที่ติดตามไปจากวัดป่าตึงทำได้ ๕ วา ใช้เวลา ๑๔ วัน พวกที่ไปจากเมืองพานทำได้ ๖๐ วา”
........จนเดี๋ยวนี้ใครที่นั่งรถขึ้นดอยตรงทางโค้งช่วงสุดท้ายก่อนถึงเชิงบันไดนาควัดพระธาตุดอยสุเทพ จะเห็นว่าตรงนั้นเป็นโค้งหักศอกที่ลาดชัน เล่ากันว่าโค้งอันตรายนี้เคยเกิดอุบัติเหตุมีคนตายหลายสิบราย
พระยาประกิตกลศาสตร์ (รุณชิต กาญจนะวณิชย์) คณบดีคนแรกของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยเล่าให้ศาสตราจารย์อัน นิมมานเหมินท์ ลูกศิษย์ในคณะฟังว่า สมัยที่ท่านยังเป็นนายช่างใหญ่กรมโยธาเทศบาล เคยส่งนายช่างจากกองทางไปช่วยครูบาศรีวิชัยเพื่อให้คำแนะนำด้านเทคนิคสำหรับการตัดถนนให้รถยนต์แล่นได้ตามหลักวิชา แต่ครูบาศรีวิชัยก็มีความเห็นของท่านเองเสมอ “ส. สุภาภา” บันทึกปากคำของเจ้าคุณประกิตฯ ไว้ว่าความขัดแย้งครั้งสำคัญคือโค้งสุดท้ายก่อนถึงวัดพระธาตุฯ
“การสร้างถนนมาถึงตอนนี้ นายช่างกองทางจึงวางแนวถนนให้วกอ้อมไปทางทิศเหนือเพื่อจะเลี่ยงความสูงชันของระดับดิน ให้ถนนค่อย ๆ ขึ้น แต่ครูบาศรีวิชัยไม่เห็นด้วย ท่านบอกว่าจะถึงพระธาตุฯ อยู่แล้ว ทำไมจะต้องอ้อมไปให้ไกลอีก ในที่สุดท่านก็ชนะ”
เมื่อนายช่างกองทางยอมแพ้ ผู้ที่อาสารับผิดชอบตัดถนนช่วงนี้แทนคือขุนกันชนะนนถี คหบดีชาวไต (ไทยใหญ่) จากเชียงตุง โค้งนั้นจึงเรียกกันว่า “โค้งขุนกัน” มาจนทุกวันนี้
.......ดูจากรายชื่อผู้สนับสนุนโครงการตัดถนน ส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มคนชั้นสูงของสังคมเชียงใหม่ เช่น เจ้าแก้วนวรัฐ หลวงศรีประกาศ แต่เมืองเชียงใหม่ก็เหมือนเมืองใหญ่ทั่วไปที่ประกอบด้วยผู้คนหลากเชื้อชาติ โยมอุปัฏฐากคนสำคัญหลายคนของครูบาก็มาจากกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ เช่น นอกจากขุนกันชนะนนถี ยังมีหลวงอนุสารสุนทร (สุ่นฮี้ ชัวย่งเสง) พ่อค้าจีนคนสำคัญของเชียงใหม่
........พลังศรัทธาจากกลุ่มชาติพันธุ์ยังหลงเหลือร่องรอยในประวัติศาสตร์บอกเล่าด้วย ผศ. วิลักษณ์ ศรีป่าซาง ผู้เขียนหนังสือ ตนบุญล้านนา ประวัติครูบาฉบับอ่านม่วน ๒ ว่าด้วยประวัติชีวิตและวัตถุมงคลอันเกี่ยวเนื่องกับครูบาศรีวิชัย ท่านเล่าให้ผมฟังว่าจากที่เคยเก็บข้อมูลปากคำผู้เฒ่าผู้แก่ในช่วง ๒๐-๓๐ ปีที่ผ่านมา เรื่องการสร้างทางขึ้นดอยสุเทพถือเป็นความทรงจำร่วมของคนรุ่นนั้น แทบทุกคนจะมีเรื่องเล่าของตัวเอง
“กำลังสำคัญคือกะเหรี่ยงนอกหรือกะเหรี่ยงที่มาจากพม่า พวกที่อยู่กับบริษัทป่าไม้ พวกนี้เรื่องตัดไม้ ทำลายหิน กรุยทาง เขาเก่งอยู่แล้ว เขามีเทคโนโลยี อย่างเช่นหินก้อนผาที่ขวางทางอยู่ จะทำอย่างไร รถเครนก็ไม่มี กลางคืนเขาก็สุมไฟเผา ตอนเช้าก็ตักน้ำมารด มันก็ยุ่ยออกเป็นทาง”
นับจาก “จอบแรก” ถนนทางขึ้นดอยสุเทพระยะทางเกือบ ๑๒ กิโลเมตรสำเร็จลงเมื่อสิ้นเดือนเมษายน ปี ๒๔๗๘ หรือภายในระยะเวลาไม่ถึง ๖ เดือน
.....ก่อนหน้าถนนของครูบา คนเชียงใหม่แต่โบราณมีประเพณีเดินขึ้นดอยสุเทพไปสักการะพระบรมธาตุเจดีย์ในช่วงวันเพ็ญมาฆบูชา เป็นการจาริกแสวงบุญสำคัญประจำปีที่ต้องใช้เวลาเดินลัดเลาะขึ้นเขาในความมืดเป็นครึ่งค่อนคืน ดังนั้นสำหรับครูบาศรีวิชัยถนนสายนี้ยังมีอีกความหมายซ้อนเหลื่อม คือเป็น “มรรค” หรือเส้นทางสู่พระนิพพาน เพราะระหว่างทางท่านวางแผนจะให้สร้างวัดขึ้นสามแห่ง คือ วัดศรีโสดา วัดสกิทาคา และวัดอนาคามี อันหมายถึงลำดับขั้นบรรลุธรรมของพระอริยบุคคล จากโสดาบันสู่สกิทาคามี และอนาคามี โดยมุ่งหมายว่าวัดพระธาตุดอยสุเทพบนยอดเขานั่นแหละคืออรหัตผล หรือภาวะของพระอรหันต์
เดี๋ยวนี้วัดศรีโสดาและวัดสกิทาคา (ผาลาด) ยังมี ส่วนวัดอนาคามีนั้นยังไม่ทันสร้างก็เกิดเหตุใหญ่ขึ้นก่อน
,,,,,,อาจเป็นเพราะครูบาศรีวิชัยอาจหาญรับงานที่แม้แต่รัฐบาลที่กรุงเทพฯ ก็ยังทำให้ไม่ได้ อาจด้วยการรวมแรงศรัทธาจากคนทุกเพศทุกวัยทุกเชื้อชาติทั่วทั้งเมืองเหนือ หรืออาจสืบเนื่องจากความสำเร็จอันเป็นเสมือนปาฏิหาริย์ในการสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพเสร็จภายในเวลาไม่กี่เดือน พอถึงช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ๒๔๗๘ ปรากฏว่าเจ้าอาวาสวัดต่าง ๆ ถึง ๙๐ วัด ทั้งในเชียงใหม่ ลำพูน และเชียงราย เฮละโลไปยื่นหนังสือขอลาออกจากการปกครองของคณะสงฆ์ส่วนกลาง ส่งคืนใบสุทธิ (เทียบได้กับบัตรประจำตัวของสงฆ์) แล้วขอขึ้นตรงกับครูบาศรีวิชัยตามระบบหัวหมวดอุโบสถโบราณ ทางครูบาศรีวิชัยก็ออกใบสุทธิใหม่ประทับตราหัวเสืออันหมายถึงปีขาลซึ่งเป็นปีเกิดของท่านมอบให้แทน ซึ่งเท่าที่พบบัญชีมีการออกใบสุทธิเป็นจำนวนกว่า ๒,๐๐๐ ฉบับสำหรับพระสงฆ์จำนวนเท่ากันนั้น
.....คณะสงฆ์ล้านนาแต่โบราณมิได้มีการรวมศูนย์อำนาจ หากแต่ใช้ระบบแบ่งแยกการปกครองวัดเป็นสำนักหรือกลุ่มย่อย ๆ ซึ่งเรียกว่า “หัวหมวดอุโบสถ” อุปัชฌาย์อาจารย์ผู้เป็นเจ้าหมวด มีหน้าที่ดูแลปกครองวัดในกลุ่มในท้องที่ และมีอำนาจอุปสมบทพระภิกษุภายในเขตของตน โดยเมื่อบวชกับพระรูปใดให้ถือว่าอยู่ในปกครองของพระอาจารย์ท่านนั้น แต่ระบบนี้ก็เสื่อมสลายไปนับแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อล้านนาถูกผนวกเข้าเป็นมณฑลพายัพของสยาม อำนาจทางการเมืองและการทหารของกรุงเทพฯ เข้าควบคุมดินแดนล้านนาพร้อม ๆ กับการปกแผ่อำนาจการปกครองคณะสงฆ์จากส่วนกลาง
การพยายามหยุดเวลา ย้อนกลับสู่ยุคหัวหมวดอุโบสถของคณะสงฆ์ล้านนาเมื่อปี ๒๔๗๘ ยังเกิดขึ้นควบคู่การต่อต้านการเรียนภาษาไทยกลางและระบบโรงเรียนของรัฐบาล เช่น ในเขตอำเภอลี้มีรายงานว่าโต๊ะเก้าอี้ของโรงเรียนประชาบาลถูกแอบเผาบ้าง โยนทิ้งในป่าบ้าง
.....กรณีนี้มีการรายงานด่วนยังคณะรัฐมนตรีที่กรุงเทพฯ ปัญหาเฉพาะหน้าคือต้องหาทางนำตัวครูบาศรีวิชัยออกจากเชียงใหม่ให้เร็วที่สุดเพื่อตัดตอนเหตุอันอาจแผ่ขยายลุกลามโดยง่าย ข้อเสนอมีต่าง ๆ กันไป เช่น จะให้ครูบาศรีวิชัยลงมาควบคุมการบูรณะพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่วิหารพระมงคลบพิตร พระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีญาติโยมทางกรุงเทพฯ เคยนิมนต์ไว้ตั้งแต่ช่วงก่อนหน้า แต่ข้อเสนอนี้ก็ตกไปเพราะเกรงว่าครูบาอาจผัดผ่อนไม่ยาก
.....สุดท้ายหลังจากออกพรรษาปี ๒๔๗๘ ทางราชการจึงนิมนต์ครูบาศรีวิชัยมารับการอบรมและซักซ้อมความเข้าใจ (ตามสำนวนปัจจุบันคงเรียกว่า “ปรับทัศนคติ”) ที่กรุงเทพฯ ข้าหลวง (ผู้ว่าราชการจังหวัด) ประจำจังหวัดเชียงใหม่ต้องเดินทางมาส่งด้วยตัวเอง โดยจัดที่พักถวายครูบา ณ ตำหนักสมเด็จ วัดเบญจม-บพิตรฯ พ่วงด้วยข้อหามากมาย ตั้งแต่การเป็นอุปัชฌาย์เถื่อน การออกใบสุทธิโดยไม่มีอำนาจ ไปจนถึงการตัดไม้ทำลายป่าระหว่างการสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ และการบูรณะโบราณสถานโดยไม่ขออนุญาตจากทางราชการ
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่พระสงฆ์ผิวขาวร่างเล็กรูปนี้ถูกส่งมากักตัวที่วัดเบญจมบพิตรฯ ในกรุงเทพฯ และไม่ใช่ครั้งแรกที่ท่านโดนข้อกล่าวหามากมาย เรื่องทำนองนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกในช่วง ๒๐ กว่าปีก่อนหน้า
.....นับแต่กฎหมายใหม่จากรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์กรุงเทพฯ ค่อย ๆ ประกาศใช้ให้แผ่ขยายครอบคลุมพื้นที่มณฑลต่าง ๆ ที่มีผลสำคัญต่อคณะสงฆ์ในล้านนาคือ พระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ (พ.ศ. ๒๔๔๕) และพระราชบัญญัติลักษณะการเกณฑ์ทหาร ร.ศ. ๑๒๔ (พ.ศ. ๒๔๔๘) การปกครองคณะสงฆ์แบบรวมศูนย์อำนาจที่กรุงเทพฯ จึงแทนที่ระบบหัวหมวดอุโบสถ สงฆ์พื้นเมืองบางส่วนถูกดึงเข้าสู่โครงสร้างใหม่ ได้รับตำแหน่งและสมณศักดิ์ในฐานะผู้ปกครองสงฆ์ท้องถิ่น ขณะอำนาจบรรพชาอุปสมบทที่เคยเป็นของพระเถระในหัวหมวดอุโบสถกลับกลายเป็นเอกสิทธิ์เฉพาะพระอุปัชฌาย์ที่ได้รับแต่งตั้งตามกฎหมายเท่านั้น พร้อม ๆ กับที่เด็กหนุ่มล้านนาซึ่งเคยบวชเป็นพระสงฆ์ได้ตามศรัทธาโดยได้รับยกเว้นจากการเกณฑ์แรงงานในยุคเดิมก็ต้องถูกเกณฑ์เข้าเป็นทหารหลวงทั้งหมด
....ปฏิกิริยาที่มีต่อความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ทำให้พระศรีวิชัย เจ้าอาวาสวัดบ้านปาง อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ต้องอธิกรณ์ (คือถูกกล่าวโทษเพื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาโดยคณะสงฆ์ผู้มีอำนาจ) หลายครั้งด้วยเรื่องเป็นพระอุปัชฌาย์บวชลูกหลาน
ชาวบ้านโดยไม่ได้รับการแต่งตั้งบ้าง การขัดคำสั่งเจ้าคณะแขวง ไม่เข้าร่วมประชุมบ้าง ข้อกล่าวหาทำนองนี้มีมาเป็นระยะ ๆ พระศรีวิชัยเคยถูกลงโทษกักตัวไว้ที่วัดหลวง (วัดพระธาตุหริภุญชัย อำเภอเมืองลำพูน) นับปีก็ครั้งหนึ่ง แต่หนที่รุนแรงกว่าเพื่อนคือในปี ๒๔๖๒
ครั้งนั้นพระศรีวิชัยถูกเจ้าหลวงลำพูนเรียกตัวเข้าเมืองลำพูนเพื่อรับการไต่สวน
พ่ออุ๊ยสิงห์คำ อิ่นมา (ปัจจุบันถึงแก่กรรมแล้ว) เป็นหลานน้าของครูบาศรีวิชัย เพราะแม่ของพ่ออุ๊ยเป็นพี่สาวของท่าน ในวัยเยาว์พ่ออุ๊ยคือหนึ่งในแปดของพระสงฆ์สามเณรที่ครูบาบวชให้ในคราวนั้น พ่ออุ๊ยเคยให้สัมภาษณ์นิตยสาร สารคดี ขณะอายุ ๙๒ ปีเมื่อปี ๒๕๓๙ ว่า
“ครูบาท่านถูกฟ้องตอนบวชพ่ออุ๊ย คราวนั้นท่านบวชพระเณรทั้งหมดแปดรูปด้วยกัน ทางคณะสงฆ์ลำพูนเขากล่าวหาว่าท่านบวชโดยไม่ได้รับอนุญาต เขาเอาตัวท่านไปกักไว้ที่ลำพูน เวลานั้นพ่ออุ๊ยต้องสึกจากเณร เพราะท่านสั่งไว้ว่าถ้าใครกลัวความหรือกลัวถูกจับ ให้หนีเอาตัวรอด…”
ตำนานครูบาศรีวิชัยแบบพิสดาร ซึ่งแต่งขึ้นเมื่อปี ๒๔๗๒ หรือ ๑๐ ปีให้หลังจากเหตุการณ์ บรรยายฉากการเริ่มต้นเดินขบวนในครั้งนั้นว่า
.......“ฝ่ายสงฆ์สามเณรทั้งหลายก็พากันตกแต่งคุมผ้ามัดอก ลูกประคำห้อยคอ ถือวีและไม้เท้า ศิษย์โยมนักบวชทั้งหลาย บางพวกถือระฆัง กังสดาล บัณเฑาะว์ หอยสังข์ ฆ้อง กลอง ดีดสีตีเป่าไปก่อนหน้าและตามหลังเจ้าภิกขุตนนั้นออกจากอรัญญาวาส คือวัดศรีทรายมูลบุญเรือง ตำบลบ้านปาง รวมทั้งคฤหัสถ์นักบวชประมาณ ๑๕๐๐ เศษ ก็ยกออกมาตามอรัญญวิถีมัคคีรี”
ขอขอบคุณ ข้อความดีๆ จากคุณ ศรัณย์ ทองปาน และนิตยสาร สารคดี
ไว้ ณ โอกาสนี้ด้วยนะคะ
http://www.sarakadee.com/2015/07/11/kruba-srivichai/