ศาลหลักเมืองนครศรีธรรมราช
สร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานหลักเมือง ตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสร้างสิ่งสำคัญทางประวัติศาสตร์ในจังหวัดนครศรีธรรมราช
ร่วมกับภาคเอกชนก่อสร้างศาลขึ้นบนที่ดินราชพัสดุ บริเวณทิศเหนือของสนามหน้าเมือง เนื้อที่ 2 ไร่ ประกอบด้วยอาคาร 5 หลัง
หลังกลางเป็นที่ประดิษฐานของศาลหลักเมือง ออกแบบให้มีลักษณะ คล้ายศิลปะศรีวิชัย เรียกว่าทรงเหมราชลีลา วางศิลาฤกษ์
เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2532 ส่วนอาคารเล็กทั้งสี่หลัง ถือเป็นบริวารสี่ทิศ เรียกว่าศาลจตุโลกเทพ ประกอบด้วยพระเสื้อเมือง
ศาลพระทรงเมือง ศาลพระพรหมเมือง และศาลพรบันดาลเมือง วางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2535 ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์
ใน พ.ศ. 2542
องค์เสาหลักเมืองทำด้วยไม้ตะเคียนทองที่ได้มาจากภูเขายอดเหลือง อันเป็นภูเขาลูกหนึ่งในทิวเขานครศรีธรรมราช ในท้องที่ตำบล
กระหรอ อำเภอนบพิตำ จังหวัดนครศรีธรรมราช ขนาดความสูง 2.94 เมตร เส้นรอบวง 0.95 เมตร ลวดลายที่แกะสลัก ตั้งแต่ฐานซึ่งเป็น
วงรอบเก้าชั้น มี 9 ลาย ส่วนบนของเสาเป็นรูปจตุคามรามเทพ (สี่พักตร์) หรือเทวดารักษาเมือง เหนือสุดเป็นเปลวเพลิงอยู่บนยอดพระเกตุ
คือยอดชัยหลักเมือง รูปแบบการแกะสลักจินตนาการจากความเชื่อในพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ซึ่งเคยมีอิทธิพลทางศิลปกรรมในภาคใต้
และนครศรีธรรมราชแต่ครั้งโบราณ ประกอบพิธีเบิกเนตรหลักเมือง เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2530 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจิม
ยอดชัยหลักเมืองเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2530 ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน และอัญเชิญมาประดิษฐาน ณ ศาลหลักเมือง ในวันรุ่งขึ้น
นอกจากนี้ในการดำเนินงานทุกขั้นตอน จะมีการประกอบพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ โดยเฉพาะปีพุทธศักราช 2528-2530 มีการประกอบ
พิธีกรรมถึง 12 พิธีกรรม อาทิ พิธีกรรมลอยชะตาเมือง พิธีกรรมสะกดหินหลักเมือง พิธีกรรมปลักยักษ์เทวดาฯ เป็นต้น
จึงนับว่าศาลหลักเมืองนครศรีธรรมราชแห่งนี้ ได้บังเกิดขึ้นด้วยความประณีตบรรจงอย่างมีภูมิหลัง และมีเอกลักษณ์เฉพาะ อีกทั้ง
จะเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สะท้อนภาพวิถีชีวิตชาวไทยใต้ในอดีต และสองถึงความพยายามอนุรักษ์สร้างสรรค์ของชาวไทยใต้
ปัจจุบันไว้อีกด้วย
ความอัศจรรย์อันเกี่ยวกับหลักเมือง
1. ไม้ตะเคียนทองสำหรับแกะสลักหลักเมือง เป็นไม้จากจากเขายอดเหลือง ซึ่งอยู่ท้องที่ตำบลกะหรอ อำเภอท่าศาลา(ปัจจุบันอยู่
ในเขตท้องที่อำเภอนบพิตำ) มีลักษณะแปลกคือที่บริเวณรอบโคนต้นมีลักษณะเตียนโล่งซึ่งเรียกกันว่าลานนกหว้า หรือตะเคียนใบกวาด
หลังจากโค่นต้นไม้แล้ว คณะได้ตัดต้นตะเคียนเหลือความยาว 4 เมตร ต้องใช้ช้างชักลากลงมาจากยอดเขา เมื่อช้างชักลากตอนแรกไม้ตะเคียนทองไม่ยอมขยับเขยื้อน แต่เมื่อคณะตัดฟันได้จุดธูปบอกกล่าวช้างก็สามารถชักลากได้ตามปกติ
2. ในการประกอบพิธีกรรมเผาดวงชะตาเมืองที่ป่าช้าวัดชะเมา เวลาหลังเที่ยงคืนไป 1 นาที เมื่อปลายปี 2528 ท่ามกลางความมืด
มีแต่แสงเทียนประกอบพิธีเท่านั้นใช้เสียงนกแสกเป็นสัญญาณจุดไฟ ทันทีที่จุดไฟจะมีเสียงร้องครวญครางโหยหวน ของภูตผีในป่าช้าที่ถูกเรียกมาให้เป็นพยาน สร้างความหวดกลัวให้กับผู้ร่วมพิธี แม้พระภิกษุรูปเดียวที่ได้รับนิมนต์มาสวดบังสุกุลก็ยังเก็บอาการไม่อยู่ สวดมนต์ด้วยเสียงสั่นเครือ และสวดผิด แต่หลังจากที่เจริญสมาธิจิตและแผ่เมตตาให้ อาการต่างๆ ก็กลับสู่ปกติ
3. เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2530 อันเป็นวันแห่เสาหลักเมืองที่แกะสลักและตกแต่งเสร็จแล้วลงเรือศรีวิชัยโบราณจำลอง จากบ้านพักผู้กำกับฯ ไปยังหน้าวิหารหลวง ขณะที่อัญเชิญเสาหลักเมืองจากเรือจำลองลงตั้งพื้นลานหน้าวิหารหลวงนั่นเองได้เกิดปรากฏการณ์พระอาทิตย์
ทรงกลด ณ ที่นั้นทันทีอย่างน่าอัศจรรย์ วันนั้นได้เกิดฝนตกหนักมากในเขตภูเขาต้นน้ำทางตะวันตกของเมือง เป็นเหตุให้น้ำป่าไหลเกือบ
ล้นฝั่งคลองท่าดีและคลองพรหมโลก วัวควายที่ชาวบ้านล่ามไว้ในคลองตายไปหลายตัว ทั้งที่ช่วงนั้นเป็นหน้าแล้ง
4. ในพิธีเบิกเนตรหลักเมืองเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2530 ขณะที่เจ้าพิธีกรรมคือพลตำรวจตรีขุนพันธรักษ์ราชเดช กำลังทำพิธีเบิกเนตร
ได้ปรากฏกลุ่มควันจางๆ ขึ้น ณ จุดสัมผัสระหว่างดินสอจารกับดวงเนตรของหลักเมือง
5. การประกอบพิธีกรรมที่เกี่ยวกับหลักเมืองนครศรีธรรมราช โดยเฉพาะพิธีกลางแจ้ง มักจะมีฝนโปรยเม็ดพรำๆ แทบทุกครั้ง
6. นายสมจิตร ทองสมัคร เล่าว่าครั้งหนึ่งในระหว่างที่มีการประทับทรงของเทวดารักษาเมือง ตนเองปรารภว่าเกิดภาวะฝนแล้งอย่างหนัก ชาวบ้านเดือดร้อนมาก ไม้ผลเหี่ยวเฉา จะแก้ปัญหาอย่างไรดี ก็ได้รับคำแนะนำว่าให้เอาไข่ 1 ใบ ไปปาใส่ภูเขาที่เขาขุนพนม บริเวณ
ที่เรียกว่า “หน้าพระ” เมื่อปฏิบัติตามคำแนะนำก็ปรากฏว่าผู้ปฏิบัติการปาไข่ยังไม่ทันจะลงมาถึงลานวัดก็มีฝนโปรยลงมาแล้ว ฝนที่ตกครั้งนั้นตกหนักมากและตกกระจายทั่วไปแม้ในภาคกลางและกรุงเทพมหานคร สำหรับที่กรุงเทพมหานครฝนตกหนักอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน
จนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครสมัยนั้นเรียกว่า “ฝนพันปี” นั่นเอง
7. นายยุทธนา โมรากุล ปัจจุบันดำรงตำแหน่งหัวหน้าหมวดการทางหัวไทร แขวงการทางนครศรีธรรมราชที่ 1 เล่าให้ฟังว่าคืนวันหนึ่ง
เมื่อ 12 ปีก่อน ขณะที่ตนเองอยู่ที่บ้านพักในแขวงการทางนครฯ กับครอบครัวซึ่งขณะนั้นตนเองยังเป็นช่างประจำสำนักงานแขวงการทาง
ได้มีคนมาตามที่บ้านบอกว่าเขามีการเข้าทรงที่ถนนบ่ออ่าง สั่งความให้มาตามตนเองไปหา เมื่อตนเองไปถึงก็ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ออกแบบอาคารศาลหลักเมือง ตนเองตอนนั้นทั้งไม่เชื่อทั้งงุนงง ทั้งเป็นงานที่ไม่เคยทำมาก่อน หลังจากที่ได้รับการลงเลขลงยันต์ที่ฝ่ามือ และได้รับคำแนะนำครั้งแล้วครั้งเล่าก็ได้มาทำแบบบนกระดาษเขียนแบบ เหมือนกับมีผู้มาบอกกล่าวแนะแนวทางอยู่ตลอดเวลา องค์จตุคามรามเทพ หรือที่เรียกกันในหมู่ลูกศิษย์ว่า “พ่อ” ได้กล่าวไว้ว่าเมื่อไหร่ที่เขียนแบบออกมาถูกต้องตามโบราณและเขียนจนถึงยอดเสร็จสมบูรณ์แล้วฟ้าดินจะรับรู้ ปรากฏว่าวันนั้นนั่งเขียนที่โต๊ะทำงาน ทันทีที่ตนเขียนเสร็จท้องฟ้าที่เจิดจ้าตามปกติกลับมืดครึ้มและมีฟ้าผ่าเปรี้ยง
อย่างน่าอัศจรรย์ อีกครั้งหนึ่ง เมื่อคราวขุดดินบริเวณสร้างศาลปัจจุบันเพื่อลงฐานราก พบฐานเจดีย์เก่าทรงกลม และเมื่อขุดได้ลึกกว่าสองเมตรก็พบชั้นหินปะการัง ปรากฏว่าน้ำใต้ดินทะลักขึ้นมาทำให้ไม่สามารถทำงานต่อไปได้ เมื่อได้ปรึกษา “พ่อ” ก็ได้รับการแนะนำเทคนิคพิเศษทั้งในเรื่องขั้นตอนและวัสดุที่ใช้โดยละเอียด พร้อมกับได้รับการบอกกล่าวไว้ล่วงหน้าว่าเมื่อทำเสร็จฟ้าดินจะรับรู้ เมื่อทำตามนั้นทุกอย่างก็แก้ปัญหาได้จริงๆอย่างไม่น่าเชื่อ ทันทีที่เสร็จสมบูรณ์ก็เกิดปรากฏการณ์พระอาทิตย์ทรงกลดอันหมายถึงการรับรู้ของฟ้าดิน
อย่างน่าอัศจรรย์
8. เมื่อมีการประกอบพิธีกรรมใดๆเกี่ยวกับหลักเมืองนครศรีธรรมราช มักจะเกิดฝนพรำๆ และฝนตกตามมาทุกครั้ง แม้กระทั่งพิธีไหว้ครู
ซึ่งกระทำกันทุกปีในวันพฤหัสแรกของเดือนหก หลังเสร็จพิธีจะมีฝนพรำทุกครั้งเช่นเดียวกัน
ทำไมต้องสร้างหลักเมืองนครฯ
ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เมืองนครศรีธรรมราชเคยมีชื่อว่า กรุงศรีธรรมโศก หรือกรุงตามพรลิงค์ แต่ตำนานไทยเหนือเรียกว่า
เมืองศิริธรรมนคร
กรุงศรีธรรมโศก สร้างขึ้นเมื่อใดไม่มีหลักฐานแน่นอน คงทราบข้อความจากคัมภีย์เก่าแก่ของชาวอินเดียสมัยต้นพุทธกาลเรียกว่า
เมืองท่าตมะลีบ้าง เมืองท่ากมะลีบ้าง จนกระทั่งในราว พ.ศ. 1150 จดหมายเหตุจีนกล่าวถึง เซียะโท้วก๊ก แปลว่า ประเทศดินแดง
ซึ่งจักรพรรดิจีนส่งราชทูตเดินทางมาติดต่อทางพระราชไมตรี ต่อมาภิกษุจีนผู้คงแก่เรียนมีชื่อว่า หลวงจีนอี้จิง เดินทางไปศึกษา
พุทธศาสนาที่ประเทศอินเดียใน พ.ศ. 1214 ได้แวะมาศึกษาภาษาสันสกฤตที่เมืองโฟชิ จึงทราบว่าบ้านเมืองทั้งหลายในคาบสมุทรภาคใต้ รวมตัวกันจัดตั้งเป็นสหพันธรัฐที่มีอำนาจทางทะเล หลวงจีนอี้จิง จึงขนานนามว่า “ประเทศทั้ง 10 แห่งทะเลใต้” หรือที่รู้จักกันในชื่อ
“อาณาจักรศรีวิชัย”
นักประวัติศาสตร์ถกเถียงกันมากในเรื่องที่ตั้งเมืองหลวงของอาณาจักรศรีวิชัย จนถึงทุกวันนี้ก็ยังหาข้อยุติไม่ได้ แต่เมื่อ พ.ศ.1710
ศิลาจารึกหลักที่ 35 พบที่บ้านคงแม่นางเมือง จังหวัดนครสวรรค์ กล่าวถึงการแผ่ขยายอำนาจของพระเจ้ากรุงศรีธรรมโศก ขึ้นไปครอบครองดินแดนในแถบภาคกลางของประเทศไทย ต่อจากนั้นดินแดนแถบนี้กลับตกเป็นเมืองขึ้นของเขมร ครั้นใน พ.ศ. 1773 ศิลาจารึกพระเจ้าจันทรภาณุศรีธรรมราช กล่าวว่าพระองค์ทรงกอบกู้อิสรภาพกรุงตามพรลิงค์กลับคืนมาได้ ภายหลังจากพระองค์สิ้นพระชนม์ไปแล้ว อนุชาของพระองค์เสวยราชสมบัติ ตำนานกล่าวว่า
“พญาจันทราภาณุผู้น้องเป็นพระยาแทนพญาจันทรภาณุเป็นพระยาอยู่ได้ 7 ปี เกิดไข้ยมบนลงทั้งเมืองคนตายวินาศประลัย
พญาจันทรภาณุ พญาพงศาสุราหะอนุชา และมหาเถรสัจจานุเทพ กับคอรบครัวลงเรือหนีไข้ยมบน ไข้ก็ตามลงเรือ พญาและลูกเมีย
ตายสิ้น พระมหาเถรสัจจานุเทพก็ตาย เมืองนครทิ้งร้างเป็นป่ารังโรมอยู่ตั้งนาน”
หลักฐานเท่าที่หยิบยกขึ้นมาอ้างอิงแสดงให้เห็นว่า กรุงศรีธรรมโศก หรือ กรุงตามพรลิงค์ หรือ เมืองนครศรีธรรมราช เคยเป็น
เมืองหลวงของอาณาจักรศรีวิชัย แล้วล่มสลายไปเมื่อครั้งเกิดโรคระบาดร้ายแรงขึ้นเมื่อราวต้นพุทธศตวรรษที่ 18 ถูกทิ้งร้างจมอยู่
กลางป่าอยู่เป็นเวลานานจนกระทั่งพวกเจ้าไทยลงมาปกครองและพื้นฟูบูรณาการบ้านเมืองขึ้นใหม่ ดังปรากฏเรื่องราวอยู่ในตำนาน
พระธาตุนครศรีธรรมราช
ไม่มีใครทราบว่าในการฟื้นฟูบูรณาการกรุงศรีธรรมโศก และพระมหาธาตุเจดีย์ ขึ้นใหม่ในครั้งนี้มีเบื้องหน้าเบื้องหลังหรือความเป็นมา
แท้จริงอย่างไร คงทราบความจากตำนานแต่เพียงว่า พระเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงศรีอยุธยาทรงโปรดให้มีตรามาเกณฑ์ผู้คนสร้างเมืองนครศรีธรรมราช และพระธาตุจนสำเร็จเสร็จสิ้นในสมัยขุนอินทราราเป็นเจ้าเมือง ต่อมาได้เลื่อนขึ้นเป็นพระศรีมหาราชา จนกระทั้งชาวนครศรีธรรมราชผู้หนึ่งสนใจศึกษาวิชาโหราศาสตร์ ได้ค้นคว้าพบดวงชะตาเมืองนครศรีธรรมราชเก่า จดบันทึกไว้ในสมุดข่อยในหอสมุดแห่งชาติ จึงนำมาตีพิมพ์เผยแพร่ว่า เมืองนครศรีธรรมราชเก่าสถาปนาขึ้นเมื่อวันพฤหัส แรม 12 ค่ำ เดือน 3 ปี เถาะ จุลศักราช 649 ตรงกับ พ.ศ. 1830
เมื่อพลตำรวจตรีขุนพันธรักษ์ราชเดช และพลตำรวจโทสรรเพชญ ธรรมาธิกุล ตรวจสอบรูปดวงชะตาเห็นว่ากรุงศรีธรรมโศกและดินแดน
ภาคใต้ถูกสาป จึงร่วมกันหาทางแก้ไข รายงานให้คณะกรรมการจัดสร้างสิ่งมีค่าทางประวัติศาสตร์เมืองนครศรีธรรมราชทราบ ต่างเห็นพ้องต้องกันว่าควรสร้างหลักเมืองนครศรีธรรมราชขึ้น เพื่อล้างมนตราอาถรรพณ์แห่งคำสาปใน พ.ศ. 2530
ที่มา : http://www.krusungsak.com/mirror/lakmang/lakmang.htm